ผู้เข้าชม :

2,931 คน

สวัสดีครับ.. เรียกได้ว่าสำหรับสมัยนี้ คนไทยเราส่งลูกหลานออกไปหาโอกาสทางภาษาและประสบการณ์ชีวิตกันที่เมืองนอกกันมากมายแต่เรื่องแบบนี้ใครไม่เคยลองสัมผัสเองไม่รู้หรอกครับว่าการไปอยู่ไกลบ้านเพียงลำพังนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายและสบายโดยเฉพาะในช่วงแรกที่ไปอยู่ต่างประเทศหากเตรียมตัวไปไม่ดีอาจทำให้ท้อเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ได้ง่ายๆ เลยครับผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศมาวันนี้เลยอยากนำเทคนิคการเตรียมตัวมาฝากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีแผนส่งลูกๆไปเรียนต่อ หรือสำหรับเพื่อนๆ ที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศเพื่อให้ไปเรียนต่อได้อย่างราบรื่น ไม่สะดุดครับ
 
ว่าด้วยเรื่อง Passport และVisa
  • Passport คือเอกสารสำคัญที่เราทุกคนต้องมีหากจะเดินทางไปต่างประเทศครับ เป็นเสมือนบัตรประชาชนของเรานี่เองครับซึ่งก่อนไปเรียนต่อต่างประเทศควรเช็คให้ดีว่า passport ของเรานั้นหมดอายุเมื่อไรโดยตามกฏเกณฑ์แล้ว passport ของเราควรมีอายุเหลือใช้งานอย่างน้อย6 เดือน ถ้าเหลือไม่ถึง 6 เดือนควรไปต่ออายุให้เรียบร้อยก่อนเดินทางครับ และหาก passportหมดอายุในช่วงที่เราอยู่ต่างประเทศสามารถต่ออายุได้ที่สถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ ได้เลยครับ
 
  • Visa เป็นเอกสารที่ออกโดยสถานทูตของประเทศที่เราไปเรียนต่อเป็นเสมือนใบอนุญาตให้เข้า-ออกประเทศของเขา ซึ่งหากเราจะไปเรียนต่อ ก็ต้องขอ visaประเภทนักศึกษาซึ่งจะจำกัดระยะเวลาไว้เลยว่าเราอยู่ในประเทศเขาได้นานแค่ไหนและมีการจำกัดชั่วโมงทำงานpart time ในกรณีที่นักศึกษาต้องการหารายได้เสริมระหว่างเรียนด้วยครับ
 
  • visa ควรเตรียมเอกสารให้พร้อมและยื่นขอvisa อย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ก่อนเดินทาง เพราะการขอ visaใช้เวลาอยู่พอสมควรและต้องเผื่อไว้ในกรณีที่ขอ visa ไม่ผ่าน จะได้ทำเรื่องยื่นใหม่ได้ทันเวลาครับ ในกรณีของการไปเรียนปรับพื้นฐานทางภาษาก่อนvisa ที่เราได้รับก็จะเป็นvisa ระยะสั้นที่ครอบคลุมเฉพาะระยะเวลาของหลักสูตรเรียนภาษาและหากเรียนผ่านและได้เข้าเรียนในชั้นเรียนปกติต่อ ก็จะต้องไปขอ visa นักศึกษาใหม่ครับ อาจยุ่งยากและใช้เวลามากหน่อยแต่ถ้าทำตามขั้นตอนที่เขากำหนดไปเรื่อยๆ ทุกอย่างก็คงไม่ติดปัญหาอะไรครับ
 
 
ว่าด้วยเรื่องเสื้อผ้า และกระเป๋าเดินทาง
 
  • เสื้อผ้า ก่อนเดินทางควรเช็คสภาพอากาศของประเทศที่เราจะไปเรียนก่อนครับว่าร้อนหรือหนาวจะได้เตรียมเสื้อผ้าไปให้เหมาะสม ในส่วนนี้ขอแนะนำว่าหากอากาศหนาวให้เตรียมเสื้อกันหนาวไปเพียงแค่พอใส่ก่อนก็ได้ครับแล้วค่อยไปซื้อเพิ่มที่ต่างประเทศเพราะเสื้อกันหนาวที่ขายในบ้านเราอาจใช้ไม่ได้กับสภาพอากาศของเมืองนอกครับ เช่นผ้าไม่กันความชื้นหรือไม่มีซับในที่ช่วยรักษาออุณหภูมิดังนั้นหากแบกเสื้อผ้าไปเยอะ ก็จะหนักและเป็นภาระในการเดินทางเปล่าๆ ครับทั้งนี้ก็ขอแนะนำอีกว่าอย่าซื้อเสื้อกันหนาวเยอะนะครับเพราะกลับมาไทยแล้วก็ไม่ได้ใส่อยู่ดีซื้อเพียงเพื่อพอใช้ระหว่างที่อยู่เมืองนอกก็พอครับ
 
  • กระเป๋าเดินทาง โดยทั่วไปแล้วสายการบินจะมีการจำกัดน้ำหนักของกระเป๋าเดินทางดังนั้นก่อนจัดกระเป๋าควรเช็คจากใบจองตั๋วเครื่องบินก่อนครับว่าได้น้ำหนักกระเป๋ากี่กิโลกรัมและหากจำเป็นต้องขนของไปเยอะ ก็ควรติดต่อสายการบินเพื่อขอน้ำหนักเพิ่มก่อนครับไม่งั้นจะต้องไปรื้อกระเป๋าตอนcheck-in ที่สนามบินแล้วจะเสียเวลาและต้องทิ้งของบางอย่างไว้ที่ไทยด้วยครับ
 
 
ว่าด้วยเรื่องห้องพัก
 
ห้องพักสำหรับนักเรียน/นักศึกษาในต่างประเทศสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบครับคือ หอพักของทางสถาบันการศึกษา บ้านพักเอกชน และ host family
 
  • หอพักของสถาบันการศึกษา ข้อดีของการอยู่หอพักของสถาบันก็คือส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ใกล้หรือภายในสถาบันสะดวกต่อการเดินทาง ประหยัดค่ารถ และค่าน้ำ-ไฟจะถูกกว่าเช่าอยู่เองข้างนอกรวมถึงอาจมีอินเตอร์เนทให้ใช้ฟรีอีกด้วยครับ ส่วนข้อด้อยก็คือห้องพักอาจคับแคบและอาจได้ห้องเก่าสักหน่อยแต่ก็คงไม่ถึงขั้นทรุดโทรมนะครับเพียงแค่อาจไม่ได้ใหม่กิ๊กเหมือนเช่าอยู่เองข้างนอกครับ จุดสำคัญอีกอย่างคือหาได้ค่อนข้างน้อยเพราะไม่ได้มีในทุกโรงเรียน
 
  • อพาร์ทเม้น หากเราไม่อยากอยู่หอของสถาบันก็อาจไปเช่าข้างนอกอยู่เองได้ครับ ซึ่งก็เลือกได้อีกว่าจะเช่าห้องอยู่คนเดียวหรือจะเป็นห้องแชร์อยู่รวมกันกับเพื่อน ข้อดีคือเราสามารถเลือกได้เองว่าจะพักในย่านไหนมีขนาดพื้นที่ใช้สอยเยอะ แต่ก็มีข้อเสียคือค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าเช่าหอพักของสถาบันและอาจต้องติดต่อเรื่องการติดตั้งอินเตอร์เนทและเคเบิ้ลทีวีเอง ซึ่งในบางสถานที่ก็มีให้ครบครัน
 
  • Host Family หรือการไปพักอยู่กับครอบครัวของคนในท้องที่นั้นๆ มีข้อดีคือ host ส่วนใหญ่จะดูแลเราเหมือนคนในครอบครัวบางบ้านช่วยซักผ้าให้ ทำอาหารให้ หรือแม้กระทั่งพาไปเที่ยวแต่ก็ขึ้นอยู่กับความใจดีของ host บ้านนั้นๆ นะครับนักเรียนไทยที่ไปเจอ host ที่เข้มงวดก็มีเยอะครับ
 
 
ว่าด้วยเรื่องเงินๆทองๆ
 
  • หากเป็นไปได้ลองติดต่อธนาคารที่ใช้อยู่ดูนะครับว่าเขามีการ co กับธนาคารท้องถิ่นที่เราไปเรียนหรือไม่หากมีก็อาจดำเนินการเปิดบัญชี โอนเงิน และทำบัตรเดบิตหรือบัตร ATM ไว้เลย เพื่อที่เวลาไปถึงจะได้มีบัญชีและบัตรไว้ใช้ครับแต่อาจไม่ได้เลยทันทีนะครับ อาจต้องรอสัก 5-10 วันแต่ก็เร็วและสะดวกกว่าไปเปิดบัญชีเองที่ต่างประเทศครับเพราะต้องรอเอกสารจากทางสถาบันการศึกษาแนบเป็นหลักฐานการเปิดบัญชีด้วย สำหรับเงินสดที่พกติดตัวไปในช่วงแรกให้แลกเงินไว้พอประมาณครับ เผื่อไว้ใช้สัก 1 เดือน โดยควรแลกไปเผื่อสำหรับซื้อของเพิ่มเติมด้วยครับ เช่น เสื้อผ้าของใช้ส่วนตัว เป็นต้น
 
เพิ่มเติมอีกนิดครับว่าหากไปในโซนยุโรปคนส่วนใหญ่จะใช้บัตรเดบิตกันนะครับ และใช้รูดซื้อของแทนเงินสดไม่ค่อยนิยมพกเงินสดกันครับ แม้แต่ซื้อของในร้านสะดวกซื้อก็รูดบัตรเดบิตกันครับ
 
ว่าด้วยเรื่องประกัน
 
  • ก่อนไปเรียนต่อต่างประเทศแนะนำว่าให้ทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันการเดินทางไปก่อนครับโดยเลือกแบบประกันให้คุ้มครองครอบคลุมถึงต่างประเทศเพื่อที่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้มีแหล่งเงินมาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเพราะการรักษาพยาบาลในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกานั้นค่อนข้างสูงครับอีกทั้งหากเกิดอะไรขึ้นอย่างน้อยเรามีบริษัทประกันคอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือในด้านต่างๆ ครับ
และนี่ก็คือเทคนิคการเตรียมตัวในด้านต่างๆสำหรับการเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้อ่านเพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมนะครับ

Credit  :  http://www.bloggang.com/viewprofile.php?id=expertblog&action=viewprofile